บทความ

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
06/06/2022

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
06/06/2022

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและดูดกลับจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งนำมาพิจารณามีอยู่ 7 ตัว คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดนี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential : GWP) แตกต่างกัน ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e)

การคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น จะใช้ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC Fifth Assessment Report 2014 : AR5) ซึ่งได้กำหนดให้ ก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นจาก 25 เท่า เป็น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครับ เช่น หากปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) และหากปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 265 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ทั้งนี้ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิดหากสามารถบอกปริมาณของก๊าซเรือนกระจกได้ จึงจำเป็นต้องนำมาเทียบและแปลงค่าก๊าซทุกตัวให้มีหน่วยเดียวกัน คือ คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)

คาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้นต้องนำข้อมูลของกิจกรรมที่ทำ (Activity Data) คูณ กับค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการแปลงค่าข้อมูลเบื้องต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อคิดเป็นค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมนั้น ๆ เช่น หากใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง(kWh) โดยค่า Emission Factor ของไฟฟ้า คือ 0.4999 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วย จะเท่ากับปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 1 x 0.4999 = 0.4999 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) โดยค่า Emission Factor นี้สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ดังนั้นในการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น การใช้ไฟฟ้า, น้ำประปา, กระดาษ, น้ำมันเชื้อเพลิง หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอาหาร ของเสียที่เกิดขึ้นในทุกวัน ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ถ้าลองนำมาคำนวณตามหลักการข้างต้น ก็จะสามารถทราบได้ว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ ซึ่งถ้าอยากช่วยโลกใบนี้ไม่ให้ร้อนเร็วขึ้น ในชีวิตประจำวันของทุกคน สามารถวางแผนกิจวัตรต่าง ๆ หรือสิ่งที่ทำให้ดี คิดก่อนใช้ทรัพยากรทุกอย่างอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้

ที่มา : SET SOCIAL IMPACT