บทความ

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน
07/08/2023

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน
07/08/2023

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน
ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร น้ำฝนที่ชะกองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรด - ด่าง และความขุ่นของน้ำอย่างรวดเร็วหลังฝนตก เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน พบว่า แหล่งน้ำจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น

มาตรการป้องกันและแก้ไขการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม

  1. ดำเนินการทำความสะอาด เก็บชยะ ลอกท่อ คูคลองระบายน้ำในชุมชน และลอกตะกอนเลนบริเวณชายหาดในช่วงก่อนฤดูฝน โดยจัดทำเป็นแผนการดำเนินงานประจำปีอย่างต่อเนื่อง
  2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์ให้ชุมชน สถานประกอบการ มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและทะเล รวมทั้งตรวจสอบการจัดการน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
  3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนควรมีการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและการต่อเชื่อมท่อน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนและสถานประกอบการเข้าระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของระบบบำบัดน้ำเสีย ตรวจสอบเครื่องจักรของสถานีสูบและระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
  4. หน่วยงานท้องถิ่นควรดำเนินการหาสาเหตุและประสานผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขอย่างทันท่วงที หากมีการระบายน้ำเสียลงแหล่งน้ำ และควรเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำในจุดที่เกิดเหตุ พร้อมติดตามผลและแจ้งแนวปฏิบัติให้แก่ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทราบอย่างต่อเนื่อง
  5. สถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมแหล่งน้ำและทะเลควรมีการตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียทั้งโครงสร้างและประสิทธิภาพการบำบัดให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินจากการรั่วไหลของน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำและทะเล
  6. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน และมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย ควรมีการประเมินความเสี่ยงและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยต่อระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียในเชิงพื้นที่

เกร็ดความรู้ปัญหาน้ำเสียจากชุมชน แหล่งกำเนิดใหญ่ที่รอการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม
น้ำเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิต สมัยก่อนหลายคนคงเคยเห็นแม่น้ำลำคลองใสสะอาดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริโภคและอุปโภคได้ แต่ในปัจจุบันคุณภาพน้ำเสื่อมลง ก่อให้เกิด น้ำเน่าเสีย มีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น จนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ และยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้

ในวันหนึ่งๆ เราจะใช้น้ำประมาณ 150 -200 ลิตรต่อคนต่อวัน จากกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ตื่นนอน น้ำดีจึงกลายเป็นน้ำเสีย เพราะฉะนั้นปัญหาของน้ำเสียส่วนใหญ่จึงมาจากแหล่งชุมชน ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงพยาบาล ตลาด ศูนย์การค้า หรือหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งส่วนมากจะไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง

น้ำเสียส่วนใหญ่จึงถูกปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ คู คลอง แม่น้ำ และทะเล ส่วนแหล่งในพื้นที่ท่องเที่ยวในขณธปกติหลายพื้นที่มีคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 คุณภาพน้ำทะเลโดยทั่วไปจะดีขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวลดลง และพื้นที่ชายฝั่งทะเลฟื้นตัว จะเห็นได้จากการกลับมาของสัตว์ทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ

ความท้าทายของการจัดการน้ำเสียให้เป็นรูปธรรม
ปัญหาน้ำเน่าเสียของประเทศไทยก็เป็นประเด็นความท้าทายที่หลายหน่วยงานพยายามหาทางแก้ไขโดยมีเป้าหมายฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญๆในแม่น้ำสายหลักและชายฝั่งทะเล

ต้นเหตุหลักมาจากแหล่งชุมชนโดยเฉพาะชุมชนเมืองที่อยู่ริมน้ำดังกล่าวแล้ว ที่ประเมินสัดส่วนน้ำเสียกว่าร้อยละ 70 รองลงมาคือ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเกษตร ทั้ง การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปศุสัตว์

ดังนั้นการฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น หลายแห่งก็ยังไม่มีระบบการจัดการน้ำเสีย โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครมีการบำบัดน้ำเสียได้ประมาณร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือมากว่าร้อยละ 60 ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำ คูคลอง

ในเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศไทย มีระบบบำบัดน้ำเสียกว่า 100 ระบบ แต่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังบำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน และหลายพื้นที่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการหรือไม่มีโครงการที่จะดำเนินการแม้เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญที่ทำให้น้ำในแหล่งน้ำเน่าเสีย แหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม จะต้องดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อลดของเสียลงสู่ คูคลอง แม่น้ำ และทะเล

ผลกระทบที่เห็นชัดแล้ว ได้แก่ น้ำทะเลเป็นสีเขียวๆ ที่เรียกว่า สาหร่อยบูม หรือ แพงค์ตอนบลูม ทำให้น้ำขาดออกซิเจนในบางเวลา กระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำ หรือกรณีน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย หาดป่าตอง เกาะพีพี เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ระดับนานาชาติรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากและสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้บริการนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่มีการบำบัดน้ำเสียก็ยังมีข้อจำกัด น้ำส่วนหนึ่งที่ไม่ผ่านระบบบำบัด หรือบำบัดไม่ได้ตามมาตรฐานได้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน และหลังโควิด -19 พบว่าแหล่งน้ำในเมืองท่องเที่ยวภาพรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้น ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวลดลง และก็น่าจะดีขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น แต่น้ำเสียจากแหล่งชุมชนทั่วประเทศยังคงมีคุณภาพไม่ดี จะเห็นได้จากคูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังพบน้ำเน่าเสียโดยทั่วไป

จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 แหล่งน้ำเสื่อมโทรมก็ยังมี จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำประมาณแหล่งน้ำ 375 พื้นที่ มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์มีคุณภาพน้ำต่ำ อยู่ในระดับเสื่อมโทรม อย่างแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำระยองตอนล่าง

ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมน้ำ ปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำ ลำคลองและชายฝั่งทะเลโดยตรง รวมทั้งการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมต่อไป

ปัญหาน้ำเน่าเสีย อีกสาเหตุสำคัญจากการ “ปล่อยสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่แหล่งน้ำ”
นอกจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำแล้ว ยังมีการทิ้งขยะมูลฝอยลงคูคลอง สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ต้องมองในอนาคต อย่างทีเห็นมีการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ ได้แก่ ชุดรับแขก ที่นอนใช้แล้ว ลอยอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งตรงนี้ยังขาดระบบการจัดการ แต่เมื่อมองกลับกันก็น่าเห็นใจคนที่นำมาทิ้งเพราะไม่รู้จะทิ้งที่ไหน นำไปทิ้งหน้าบ้านคนเก็บขยะก็ไม่เก็บให้ จึงต้องผลักดันลงแหล่งน้ำ ในหลายเขตพยายามรวบรวมขยะชิ้นใหญ่ ซึ่งตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจัดการโดยใช้ระบบให้เช่าแทนการขาย ระบบเช่าที่นอนบางส่วนสามารถนำกลับไปซ่อมแซมได้ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และลดของเสียที่จะเกิดขึ้น หลายคนมองว่า..ทำไมไม่ใช้กฎหมายเข้ามาบังคับใช้

หากมองว่าทำไมไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ความเป็นจริงแล้วกฎหมายในเรื่องนี้เรามีอยู่หลายฉบับ แต่ก็ยังมีปัญหาการบังคับใช้อยู่ และที่สำคัญ คือจิตสำนึกของคน เพราะต้นเหตุของน้ำเสียคือ มนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใข ให้เกิดความตระหนักและเปลี่ยนแปลพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างและดำเนินการระบบการจัดการให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำวิกฤตก็จะต้องให้ความสำคัญของดำเนินโครงการระบบบำบัดน้ำเสีย โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนเนื่องจากเป็นโครงการที่จะต้องลงทุนสูง

จังหวะนี้น่าจะเป็นการถือโอกาสในการฟื้นฟูระบบจัดการของเสีย ทั้งน้ำเสียและขยะมูลฝอย เพื่อเตรียมการรับฤดูท่องเที่ยวหลังโควิด-19 และสร้างระบบบริหารจัดการตามศักยภาพการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัญหาน้ำเสียก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพราะทุกคนใช้น้ำ น้ำดีจึงกลายเป็นน้ำเสีย เราสามารถจะช่วยแก้ปัญหาได้แก่ การช่วยกันลดการใช้น้ำ ประหยัดการใช้น้ำ น้ำเสียก็จะน้อยลง ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยลดของเสียอื่นๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ รัฐบาลเยอรมัน ผ่าน GIZ กำลังศึกษาระบบธรรมชาติที่จะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น ถ้าเราจะสร้างฝาย หรือ เขื่อนกักน้ำ ต้องดูว่าควรจะมีโครงสร้างลักษณะเช่นไรถึงจะเอื้อต่อสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบที่การรองรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ
บทความโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย