การจัดการน้ำเสียประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
07/08/2023
การจัดการน้ำเสียประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
07/08/2023

การจัดการน้ำเสียประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สถานีบริการน้ำ มันเชื้อเพลิงเป็นกิจกรรมหนึ่งในสถานประกอบการที่ถูกควบคุมเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย โดยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสถานที่ที่มีการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การล้างทำความสะอาดพื้นที่อาจมีการปนเปื้อนน้ำมัน น้ำเสียจากการล้างภาชนะ จากห้องสุขา เป็นต้น ดังนั้น น้ำเสียที่เกิดจากการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และของใช้ต่างๆ ก็อาจมีคราบน้ำมันและสิ่งสกปรกปนเปื้อน และอาจแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้
จากการสุ่มตรวจสอบน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2556 จำนวน 38 ราย สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีผลน้ำทิ้งไม่ผ่านมาตรฐาน จำนวน 14 รายหรือร้อยละ 36.8 และมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่สามารถเก็บน้ำได้เนื่องจากน้ำเสียเข้าสู่ระบบน้อยจำนวน 3 ราย และไม่มีการระบายน้ำออกภายนอก จำนวน 6 ราย โดยน้ำเสียที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องถูกบำบัดก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมไม่เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยระบบบำบัดน้ำเสียที่นิยมใช้ ได้แก่ ถังดักไขมัน ถังเกรอะถังกรองไร้อากาศ จากการรวบรวมข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษในการติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงบางแห่งมีค่าน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐานแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พารามิเตอร์ส่วนใหญ่ที่เกินค่ามาตรฐานคือ ค่าซีโอดี (COD), ค่าสารแขวนลอย (SS) และ ค่าน้ำมันและไขมัน (Oil and Grease)
1. แหล่งที่มาและลักษณะน้ำเสีย
ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก และ ข ตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมเชื้อเพลิงต้องบำบัดน้ำเสียให้เป็นไป ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก หมายถึง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ตั้งติดถนนใหญ่ กว้างมากกว่า 12 เมตร สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก หมายถึง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งติดถนนซอย กว้างไม่น้อยกว่า 8 แต่น้อยกว่า 12 เมตร
- 1.1 กิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย
ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนอกจากการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดน้ำเสียเป็นจำนวนมาก กิจกรรมดังกล่าว มีลักษณะและปริมาณน้ำเสียที่ค่อนข้างแปรผันขึ้นอยู่กับกิจกรรมและขนาดการให้บริการของสถานีบริการน้ำมัน จำนวนและชนิดของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งเทคนิควิธีการรวบรวมน้ำเสียในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง กิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีดังนี้
- 1) น้ำล้างพื้นจากการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันเครื่องที่หกหล่นการล้างอัดฉีด การให้บริการเติมน้ำ มัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น การหกหล่นของน้ำมันระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมัน
2) น้ำเสียจากห้องสุขา
3) น้ำเสียจากร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
- สรุปได้ว่าน้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีความสกปรกสูงกว่าน้ำเสียจากบ้านเรือน โดยมีทั้งน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมการเติมน้ำมันและน้ำเสียจากกิจกรรมอื่นๆ ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้น้ำเสียที่เกิดจากทุกกิจกรรมภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องได้รับการบำบัดก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม
- 1.2 ลักษณะสมบัติน้ำเสีย
น้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีลักษณะคล้ายกับน้ำเสียจากบ้านเรือน แต่อาจมีปริมาณน้ำมันมากกว่าน้ำเสียทั่วไป ซึ่งเกิดจากกิจกรรมการให้บริการน้ำมัน มีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
- สารอินทรีย์ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายง่าย กับสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายยาก ได้แก่ คราบน้ำมันรถยนต์ น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น ซึ่งต้องมีการเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายง่ายจะมาจากกิจกรรมการใช้น้ำทั่วไป เช่น น้ำจากห้องสุขา และร้านค้าต่างๆ ภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถถูกย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนหรือไม่ใช้อากาศ โดยทั่วไปปริมาณของสารอินทรีย์ในน้ำนิยมวัดด้วยค่าบีโอดี (BOD) หรือค่าซีโอดี(COD) แต่สำหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงจะวัดเป็นค่าซีโอดีเนื่องจากมีสารอินทรีย์ที่แบคทีเรียย่อยสลายยาก จึงใช้ค่าซีโอดีเป็นตัวแทนในการวัดค่าความสกปรก
- โลหะหนักและสารพิษ อาจอยู่ในรูปของสารอินทรีย์หรืออนินทรีย์และสามารถสะสมอยู่ในวงจรอาหาร เกิดเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น โลหะหนักหรือสารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำเสียจากสถานี
บริการน้ำมันเชื้อเพลิงพารามิเตอร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำเสียจากสถานศึกษา ได้แก่
- 1) ค่าพีเอช (pH) เป็นค่าแสดงความเป็นกรดเป็นด่าง ถ้าค่าพีเอชเท่ากับ 7 แสดงว่าน้ำนั้นเป็นกลาง ถ้าค่าพีเอชต่ำกว่า 7 เป็นกรด สูงกว่า 7 เป็นด่าง
2) ค่าซีโอดี (Chemical Oxygen Demand; COD) คือ ปริมาณของออกซิเจนที่ใช้สารเคมีในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ใช้เป็นค่าวัดความสกปรกของน้ำ แสดงถึงปริมาณการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ที่สารเคมีสามารถย่อยสลายได้ ถ้าค่าซีโอดีสูงแสดงว่าน้ำนั้นมีความสกปรกมาก
3) ค่าสารแขวนลอย (Suspended Solids) หมายถึง ถ้ามีสารแขวนลอยในน้ำมาก จะทำให้บดบังแสงจึงลดความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำหรือสาหร่ายลง
4) ค่าน้ำมันและไขมัน เป็นอุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสงของสิ่งมีชีวิตในน้ำ และกีดขวางการกระจายของออกซิเจนจากอากาศลงสู่น้ำ
2. แนวทางในการลดปริมาณและความสกปรกในน้ำเสีย
- 2.1 การลดปริมาณการใช้น้ำ
- 1) การปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ
2) การนำกลับมาใช้ซ้ำ/การใช้ใหม่ ในการหมุนเวียนน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ/ใช้ใหม่ (โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรค) ได้แก่ การเวียนน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้วกลับมาใช้ซ้ำกับบริเวณที่มีพื้นที่สวนการเวียนน้ำมาใช้ซ้ำจากน้ำใช้ (Gray Water) จากอาคารสำนักงาน โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความถูกสุขลักษณะของผู้ใช้
3) การนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ น้ำฝนที่เก็บไว้สามารถนำกลับมาใช้ในห้องสุขา ล้างทำความสะอาดพื้น และรดน้ำต้นไม้ โดยต้องผ่านค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้งานตามความเหมาะสม
4) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ
- ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ โดยปิดปั๊มน้ำและก๊อกน้ำทั้งหมดแล้วตรวจสอบมิเตอร์ดู ถ้าหากตัวเลขมิเตอร์ยังเดินอยู่ก็แสดงว่ามีจุดรั่วไหลให้คอยตรวจสอบไปทีละจุดจนกว่าจะพบ
- ติดตั้งมาตรวัดน้ำและอุปกรณ์ควบคุมระดับที่ท่อส่งน้ำหลัก
- อุดรอยรั่ว หรือเปลี่ยนท่อที่ชำรุด
- ติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติควบคุมการไหลของน้ำในท่อ
- ทำแถบสีแยกให้ชัดเจนระหว่างท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดี
- นำน้ำล้างในอ่างล้างจานที่สะอาดที่สุดกลับมาใช้ใหม่ (ใช้เป็นน้ำล้างภาชนะครั้งแรก)
- หลีกเลี่ยงการล้างระบบน้ำล้น
- การเช็ดพื้น ควรใช้ภาชนะรองน้ำและซักล้างอุปกรณ์ในภาชนะก่อนที่จะนำไปเช็ดถู จะใช้น้ำน้อยกว่าการใช้สายยางฉีดล้างทำความสะอาดพื้นโดยตรง
- การรดน้ำต้นไม้ ควรใช้สปริงเกอร์หรือใช้น้ำที่เหลือจากกิจกรรมอื่นมารดต้นไม้ ก็จะช่วยประหยัดน้ำลงได้
- รณรงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดน้ำใช้และลด/แยกขยะ
- 2.2 การลดความสกปรกของน้ำเสีย
- เก็บกวาดทำความสะอาด พื้น บรรจุภัณฑ์ ก่อนใช้น้ำล้างทำความสะอาด
- ติดตั้งตะแกรงดักขยะที่ท่อระบายน้ำ
- ติดตั้งถังดักไขมันที่มีประสิทธิภาพสำหรับร้านค้าที่มีการล้าง เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น
- มีตะแกรงกรองเศษอาหารก่อนระบายน้ำทิ้งลงบ่อดักไขมัน
- ตักน้ำมันในถังดักไขมันไปกำจัดอย่างเหมาะสมทุกสัปดาห์
- ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย
- 2.3 เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย
- เปลี่ยนการออกแบบใหม่หรือปรับปรุงระบบบำบัดให้มีประสิทธิภาพ และสามารถบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐาน
- เพิ่มระบบอัตโนมัติเข้าช่วยทำให้การทำงานของระบบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบได้ประสิทธิภาพสูง
- ปรับปรุงข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน เช่น ไม่วางสิ่งกีดขวางระบบทำให้สามารถเข้าถึงระบบหรืออุปกรณ์ และช่วยทำให้ง่ายต่อการดูแลและบำรุงรักษา
- ปรับปรุงคุณภาพอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน
- ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย หรือปรับปรุงระบบบำบัดให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยการเพิ่มอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมหรือการเติมเชื้อจุลินทรีย์ (EM) เพิ่มประสิทธิภาพในระบบบำบัดทางชีวภาพ
- 2.4 ปรับปรุงกระบวนการดำเนินการ
- มีแผนงาน กระบวนการทำงานและขั้นตอนบำรุงรักษาระบบบำบัดที่ชัดเจน
- มีการบันทึกการปฏิบัติงานเป็นประจำหากมีความผิดปกติ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบบำบัด หรืออุปกรณ์ต่างๆ จะได้มีข้อมูลหรือสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที และสอดคล้องกับกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การเก็บสถิติ และข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2555” ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
- มีการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
3. การดำเนินการตามกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 80
อาคารประเภท ก และ ข ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบการจัดเก็บสถิติและข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2535 (ทั้งนี้ จะย่อเป็น “กฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 80”) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเองมีหน้าที่ ดังนี้
- เก็บสถิติและข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบหรืออุปกรณ์ และเครื่องมือดังกล่าวในแต่ละวัน และจัดทำบันทึก รายละเอียดเป็นหลักฐานไว้ ณ สถานที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น โดยต้องจดบันทึกสถิติ
และข้อมูลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียตาม แบบ ทส.1 ทุกวัน และเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลเป็นสถิติในการตรวจสอบประสิทธิภาพระบบ และควรแก้ไขหรือปรับปรุงส่วนใด
- สรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียตาม แบบ ทส.2 ทุกเดือน และจัดส่งให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 15 วันของเดือนถัดไปเนื่องจากตามกฎกระทรวงได้อธิบายว่า ผู้เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ โดยหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามมาตรา 80 ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้แก่
- 1) เจ้าของหรือครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ หมายถึง เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษตามตรา 69 และมีระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรา 70 เป็นของตนเอง
2) ผู้ควบคุมระบำบัดน้ำเสียหรือผู้รับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียหมายถึง ผู้ควบคุมหรือผู้รับจ้างบริการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งได้รับอนุญาตตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
3) เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายถึง
- นายกเทศมนตรี กรณีแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งอยู่ในเขตเทศบาล
- นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
- ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
- ปลัดเมืองพัทยา กรณีแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งอยู่ในเขตเมืองพัทยา
4.หลักการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้น
- 4.1 ประเภทและมาตรฐานการควบคุมน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หมายถึงสถานีบริการน้ำมันประเภท ก หรือสถานีบริการฯ ติดถนนใหญ่ และประเภท ข หรือสถานีบริการฯ ติดถนนซอย สำหรับมาตรฐานควบคุมการ
ระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้กับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก และ ข โดยกำหนดมาตรฐานการระบายน้ำทิ้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง แสดงดังตาราง
ตาราง มาตรฐานควบคุมระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก และ ข
ดัชนีคุณภาพน้ำเสีย |
ความเข้มข้น |
หน่วย |
พีเอช (pH) |
5.5 – 9.0 |
- |
ซีโอดี (Chemical Oxygen Demand) |
200 |
mg/L |
สารแขวนลอย (Suspended solid) |
60 |
mg/L |
น้ำมันและไขมัน (Fat Oil and Grease) |
15 |
mg/L |
ที่มา : ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 123 ตอนพิเศษ 129 ง ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2549
- 4.2 เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดน้ำเสียที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน น้ำเสียจากกิจกรรมต่างๆ ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง อาจมีการปนเปื้อนด้วยสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายยาก โลหะหนัก นอกจากนี้ในน้ำเสียยังมีทั้งปริมาณและความเข้มข้นของน้ำมันสูง ดังนั้น น้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมัน
เชื้อเพลิงจึงต้องผ่านการบำบัดก่อนระบายออกสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำสาธารณะนอกสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และผ่านเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
- แหล่งที่มาของน้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มาของน้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- (1) น้ำฝน ควรแยกท่อระบายน้ำฝนออกจากท่อระบายน้ำเสีย จะช่วยลดขนาดของระบบบำบัดน้ำเสียลงได้
(2) น้ำเสียจากร้านค้า สำนักงาน หากมีน้ำเสียจากห้องครัวให้ผ่านตะแกรงเพื่อกรองเศษอาหารออก และผ่านบ่อดักไขมัน ก่อนนำไปบำบัดร่วมกับน้ำเสียจากห้องน้ำห้องส้วม
(3) น้ำเสียที่อาจมีน้ำมันปนเปื้อน เช่น น้ำล้างรถยนต์ และน้ำล้างพื้นบริเวณจุดจ่ายน้ำมัน โดยควรมีบ่อตรวจสอบก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งน้ำทิ้งจะต้องได้มาตรฐานน้ำทิ้งที่กำหนด
- 4.3 วิธีการบำบัดทางกายภาพ
น้ำเสียจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงจากท่อรวบรวมน้ำเสีย จำเป็นจะต้องบำบัดด้วยวิธีทางกายภาพซึ่งได้แก่ ตะแกรง และบ่อดักไขมัน ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เป็นการบำบัดเบื้องต้น เนื่องจากเป็นการลดความสกปรกหรือภาระบรรทุกสารอินทรีย์ (BOD loading) ได้มากถึงร้อยละ 30 - 60 นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันท่อน้ำไม่ให้อุดตัน และป้องกันปั๊มน้ำเสียหาย
- ตะแกรง (screen)
ตะแกรงที่ใช้ดักของแข็งแขวนลอยขนาดใหญ่ในน้ำ เสีย คือตะแกรงแบบหยาบประกอบด้วยเหล็กเส้น ซึ่งมีช่องว่างประมาณ 2 – 15 ซม. ตั้งเอียงทำมุม 45°– 60° กับแนวตั้ง เต็มรางระบายเพื่อดักวัตถุชิ้นใหญ่ๆ ที่ปนมากับน้ำเสียออก ได้แก่ เศษไม้ ถุงพลาสติก กระดาษ และอื่นๆ เพื่อลดความสกปรก และป้องกันการตกตะกอนในการบำบัดน้ำเสียขั้นต่อไป ตะแกรงจะช่วยกำจัดของแข็งออกจากน้ำเสียได้ประมาณร้อยละ 5 - 15 เป็นการช่วยป้องกันมิให้เครื่องสูบน้ำต้องประสบปัญหากับการอุดตันส่วนวัสดุต่างๆ ที่ติดหน้าตะแกรงจะต้องกำจัดออกทุกวัน โดยนำไปเผาหรือขจัดรวมกับขยะต่อไป
- บ่อดักไขมัน
น้ำเสียจากครัวหรือห้องอาหาร น้ำล้างบริเวณที่มีการปนเปื้อนมีน้ำมันและไขมันสูงมาก หากไม่กำจัดออกจะทำให้ท่อระบายน้ำอุดตันการใช้บ่อดักไขมัน จะสามารถกำจัดไขมันได้มากกว่าร้อยล 60 บ่อดักไขมันมีทั้งแบบสำเร็จรูป หรือสามารถสร้างเองได้โดยใช้วงขอบซีเมนต์หรือถังซีเมนต์หินขัด โดยจะต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะกักน้ำเสียไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ไขมันและน้ำมันมีโอกาสลอยตัวขึ้นมาสะสมกันอยู่บนผิวน้ำ ซึ่งจะต้องตักออกไปกำจัดทุกวัน เช่น ใส่ถุงพลาสติกทิ้งฝากรถขยะหรือนำไปตากแห้งหรือหมักทำปุ๋ย
- การบำบัดทางชีวภาพ
การบำบัดทางชีวภาพใช้เพื่อกำจัดบีโอดีในน้ำเสีย เนื่องจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ใช้บ่อดักไขมัน ตามด้วยบ่อเกรอะบ่อกรองไร้อากาศ หรือการใช้ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป หรือถัง SAT หากน้ำเสียมีค่าความสกปรกสูงการบำบัดที่จะให้ผลน้ำทิ้งผ่านมาตรฐานควรเลือกใช้ระบบบำบัดแบบเติมอากาศ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย
- บ่อเกรอะ (Septic Tank)
เป็นบ่อปิดน้ำซึมผ่านไม่ได้ และไม่มีการเติมอากาศ จึงอยู่ในสภาวะไร้อากาศ (Anaerobic) นิยมใช้กับน้ำเสียและของเสียจากห้องส้วมซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย หลังจากย่อยแล้วของเสียจะกลายเป็นก๊าซกับน้ำ และกากตะกอน (Septage) ในปริมาณที่น้อย บ่อไม่เต็มง่าย (อัตราการเกิดกากตะกอนประมาณ 1 ลิตร/คน/วัน) และควรมีการสูบกากตะกอนในบ่อเกรอะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ถังกรองไร้อากาศ (Anaerobic filter)
ถังกรองไร้อากาศเป็นระบบบำบัดแบบไม่ใช้อากาศเช่นเดียวกับบ่อเกรอะ แต่มีประสิทธิภาพในการบำบัดของเสียมากกว่า โดยภายในถังช่วงกลางจะมีชั้นตัวกลาง (Media) บรรจุอยู่ ตัวกลางที่ใช้กันมีหลายชนิด เช่นหลอดพลาสติก ลูกบอลพลาสติก กรงพลาสติก และวัสดุโปร่งอื่นๆ ควรเลือกตัวกลางที่มีพื้นที่ผิวมาก เพื่อให้จุลินทรีย์ยึดเกาะได้มากขึ้น น้ำเสียจะไหลเข้าทางด้านล่างของถังแล้วไหลขึ้นผ่านชั้นตัวกลาง จากนั้นจึงไหลออกทางท่อด้านบน ขณะที่ไหลผ่านชั้นตัวกลาง จุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้อากาศจะย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นก๊าซกับน้ำ น้ำทิ้งที่ไหลล้นออกไปจะมีค่าบีโอดีลดลง การดูแลรักษาระบบควรจะมีการสูบตะกอนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปหรือเรียกอีกอย่างว่า ถังแซท (SAT) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ สะดวกในการก่อสร้าง ถังแซท ก็คือ ถังส้วมที่ประกอบด้วยส่วนแยกตะกอน และส่วนย่อยสลายสารอินทรีย์อยู่ร่วมภายในถังเดียวกัน โดยจะบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลให้กลายเป็นน้ำดีก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะโดยไม่ต้องให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดินอย่างบ่อเกรอะบ่อซึม จึงช่วยแก้ปัญหาอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินซึมน้ำได้ไม่ดี ไม่ให้ส้วมอุดตันหรือบ่อส้วมทะลักเกิดน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็น และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ถังแซทจะทำงานโดยให้น้ำทิ้งที่ไหลเข้ามาเข้าสู่ส่วนแยกตะกอนและเก็บกักตะกอนหนักและสิ่งที่ปะปนมากับน้ำทิ้งจะตกตะกอนลงสู่ด้านล่างของถังและเกิดการย่อยสลายในสภาพไร้ออกซิเจนไปบางส่วน จากนั้น น้ำทิ้งส่วนที่เหลือจะผ่านเข้าสู่ส่วนกรองไร้อากาศ ก่อนผ่านเข้าสู่ส่วนดักกลิ่นกลายเป็นน้ำทิ้งต่อไป ถังแซทมีทั้งชนิดเติมอากาศและไม่เติมอากาศการเลือกถังแซท ควรคำนึงถึงจำนวนผู้ใช้งาน ซึ่งหาได้จากค่าน้ำประปา (น้ำเสียคิดเป็นร้อยละ 80 ของน้ำประปา) หรืออัตราการใช้น้ำบาดาล ลักษณะความสกปรกของน้ำเสีย โดยควรติดตั้งบ่อดักไขมันก่อนรวบรวมน้ำเสียเข้าถังแซท เพื่อป้องกันการอุดตันในส่วนของการกรองผ่าน ตัวอย่าง และถ้าน้ำเสียมีความสกปรกมากควรเลือกใช้ถังแซทชนิดเติมอากาศ โดยต้องมีส่วนตกตะกอน เพื่อให้น้ำทิ้งผ่านค่ามาตรฐานสารแขวนลอย
- บ่อปรับเสถียร (Stabilization pond)
บ่อปรับเสถียรเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ ประกอบด้วยบ่อ 2 ชนิด คือ
- บ่อกึ่งหมัก เป็นบ่อที่มีแบคทีเรีย ๒ ประเภท คือ ส่วนบนจะเป็นแบบใช้อากาศ ส่วนล่างจะเป็นแบบไม่ใช้อากาศ บ่อลึกประมาณ 1.5 – 2.0 เมตร
- บ่อแอโรบิก เป็นบ่อเติมอากาศธรรมชาติโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ผิวหน้าบ่อ และออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย โดยทั่วไปบ่อแอโรบิกจะลึก 0.5 – 1.0 เมตร
- สระเติมอากาศ (Aerated Lagoon)
สระเติมอากาศเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ โดยเป็นบ่อเติมอากาศในบ่อแรก และบ่อต่อๆ ไปจะทำหน้าที่เป็นบ่อตกตะกอน โดยส่วนมากจะมีบ่อเรียงกัน 3 – 5 บ่อ ที่ความลึกต่างๆ บ่อเติมอากาศมีความลึกประมาณ 2.5 – 3 เมตรในบ่อแรก โดยจะลึกกว่าบ่อปรับเสถียร เนื่องจากมีการใช้เครื่องเติมอากาศทำให้จุลินทรีย์สามารถใช้บำบัดน้ำเสียได้มากกว่า
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2552. คู่มือการจัดการน้ำเสียประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง.
แหล่งที่มา : https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2020/05/pcdnew-2020-05-20_03-07-19_648658.pdf, 5 สิงหาคม 2566