บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
17/08/2023
บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
17/08/2023

บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การกำหนดชนิดและขนาดของโรงงาน กำหนดวิธีการควบคุมการปล่อของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานประจำและหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมดูแลสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
“บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษในโรงงาน
“ผู้ควบคุมดูแลระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ” หมายความว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล ดำเนินการ และบำรุงรักษาระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ กากอุตสาหกรรมหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับการควบคุม บำบัด หรือกำจัดมลพิษอื่นใด ที่ติดตั้งสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษภายในโรงงาน
“บริษัทที่ปรึกษา” หมายความว่า ผู้รับจ้างให้บริการที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี
“ผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแล และบำรุงรักษา เครื่องมือ เครื่องใช้ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ติดตั้งขึ้นเพื่อการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย กากอุตสาหกรรม หรือกำจัดมลพิษอื่นใด ซึ่งต้องอยู่ประจำเครื่องจักรตลอดเวลาที่มีการเดินระบบ
“วิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการบริหารจัดการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุมมลพิษที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมให้มีลักษณะเป็นไปตามค่าที่กำหนดในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
- ผู้ควบคุมดูแลระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ประกอบด้วย
- ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษอากาศ
- ผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม
- ผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- บริษัทที่ปรึกษา ที่ทำสัญญาตกลงรับจ้างให้บริการ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี
คุณสมบัติของผู้ควบคุมมลพิษ
ต้องเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต หรือ วิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาเคมี หรือ สาขาเคมีเทคนิค หรือ สาขาอื่นที่มีประสบการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากดรงงานอุตสาหกรรม และสำหรับกรณีที่เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาต้องประกอบด้วยคุณวุฒิดังกล่าวข้างต้น
โรงงานต่อไปนี้ ต้องมีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
- โรงงานที่มีน้ำเสียปนเปื้อนสารอินทรีย์ ปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ยกเว้นน้ำหล่อเย็น) หรือมีปริมาณความสกปรกก่อนเข้าระบบบำบัด (BOD Load of Influent) ตั้งแต่ 100 กิโลกรัม ต่อวันขึ้นไป
- โรงงานที่ใช้สารหรือองค์ประกอบของสารดังต่อไปนี้ในกระบวนการผลิตที่มีปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตร ต่อวันขึ้นไป
- สังกะสี (Zinc)
- แคดเมียม (Cadmium)
- ไซยาไนด์ (Cyanide)
- ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ (Organic Phosphorus Compounds)
- ตะกั่ว (Lead)
- ทองแดง (Copper)
- บาเรียม (Barium)
- เซเลเนียม(Selenium)
- นิเกิล (Nickel)
- แมงกานีส (Manganese)
- โครเมียม วาเลนซี 6 (Hexavalent Chromium)
- อาร์ซินิคและสารประกอบอาร์ซินิค (Arsenic and its Compounds)
- ปรอทและสารประกอบปรอท (Mercury and its Compounds)
- โรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง
- โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไป
- โรงงานอุตสาหกรรมเปโตรเคมีที่ใช้วัตถุดิบซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและ/หรือที่ใช้วัตถุดิบซึ่งได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป
- โรงงานอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมทุกขนาด
- โรงงานอุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติทุกขนาด
- โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์โดยกระบวนการทางเคมีทุกขนาด
- โรงงานอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีโดยกระบวนการทางเคมีทุกขนาด
- โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานทุกขนาด
- โรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล ดังต่อไปนี้
- การทำน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ทุกขนาด
- การทำกลูโคส เดกซ์โทรส ฟรักโทส หรือผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 20 ตันต่อวันขึ้นไป
- โรงงานจัดการกากของเสียและวัตถุอันตรายทุกขนาด
- โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเหล็กและเหล็กกล้า ดังต่อไปนี้
- โรงงานที่มีเตาอบหรือใช้น้ำกรดหรือใช้สารที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในขบวนการผลิต และมีกำลังผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวัน ขึ้นไป
- โรงงานที่มีขนาดเตาหลอมเหล็กมีปริมาตรรวมทั้งสิ้น (Total Capacity) ตั้งแต่ 5 ตันต่อครั้ง (Batch) ขึ้นไป
- โรงงานประกอบกิจการคลอ - แอลคาไลน์ที่ใช้โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) เป็นวัตถุดิบในการผลิตโซเดียมคาร์บอเนต (Na2Co3) โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) กรดไฮโดรคลอริค (HCL) คลอรีน (CL2) โซเดียมไฮโพคลอไรด์ (NaOCL) และปูนคลอรีน (Bleaching Power) ที่มีกำลังผลิตแต่ละชนิดหรือรวมกันตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป
- โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตปูนซีเมนต์ทุกขนาด
- โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงแร่หรือหลอมโลหะซึ่งมิใช่อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้าที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป
- โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อกระดาษตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป
บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานตามประกาศนี้ ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ผู้จัดการสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่
- ผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงาน รวมถึงจัดทำแผนการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมและคู่มือการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน และพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบได้ตลอดเวลา
- รับรองรายงานตามที่ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรมเสนอ และดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของโรงงาน
- จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบทันทีและรีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว นอกจากนี้ ต้องจัดทำรายงานระบุปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไข และผลการดำเนินงาน แล้วแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบโดยตรง
- ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม มีหน้าที่
- พิจารณาตรวจสอบชนิด ประเภทของเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน
- ประเมินและตรวจสอบลักษณะของมลพิษ และประสิทธิภาพของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- ควบคุม กำกับ ดูแล ปฏิบัติการตามแผนการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม คู่มือการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงาน และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินของโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้มีการระบายมลพิษผ่านทางลัด (By pass) หรือปล่อยให้มลพิษแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ผ่านระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- จัดทำรายงานการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ ดูแลการทำงานของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และส่งให้ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมรับรอง
- ต้องจัดทำรายงานผลวิเคราะห์ปริมาณสารมลพิษให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดทั้งนี้ ต้องทำการวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของทางราชการ หรือห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของเอกชนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบและส่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานทราบและเก็บรักษาไว้ พร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
- ในกรณีที่ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนด ต้องระบุปัญหาและเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร และรายงานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายใน 15 วันทำการ นับจากวันที่ไม่สามารถดำเนินการได้
- เมื่อผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศหรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรมไม่ประสงค์จะรับผิดชอบระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของโรงงานแห่งนั้นอีกต่อไป ต้องแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันที่จะไม่ดำเนินการดังกล่าว
- บริษัทที่ปรึกษาให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด
- ผู้ปฏิบัติงานประจำระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีหน้าที่
- ปฏิบัติหน้าที่ประจำเครื่องจักรของระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควบคุม กำกับ ดูแลการเดินระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตลอดเวลาที่มีการเดินระบบ
- พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศหรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม
- รายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศหรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี ทราบทันทีในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
- จัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผลการปฏิบัติการ ปัญหา และอุปสรรคในการเดินระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษให้ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษน้ำ อากาศ หรือผู้ควบคุมระบบการจัดการมลพิษกากอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี เพื่อประโยชน์ในการสั่งปรับปรุงแก้ไข
ที่มา : ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม