บทความ

ทำไม ! ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดิน
21/06/2022

ทำไม ! ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดิน
21/06/2022

ทำไม ! ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดิน

ทำไม ! ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดิน

การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน (soil and groundwater contamination) เป็นปัญหาที่เรื้อรังและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างจากปัญหามลพิษในบรรยากาศและในน้ำผิวดินเนื่องจากการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจะไม่เป็นประเด็นเลยจนกระทั่งการปนเปื้อนนั้นส่งผลกระทนต่อสุขภาพมนุษย์ ปัญหาการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินเป็นมลพิษที่ควบคุมได้ยาก ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตราย การแอบเติมสารอันตรายลงในบ่อน้ำใต้ดิน เป็นสิ่งที่ยากในการติดตามตรวจสอบและยังมีการพบเห็นการกระทำดังกล่าวเป็นระยะๆ การกระทำที่เกิดขึ้นอาจสืบเนื่องจากการขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ เป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทั้งนี้การบำบัดฟื้นฟูดินและน้ำใต้ดินยังต้องใช้ระยะเวลาและใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งนี้ในประเทศไทยซึ่งพบปัญหาการปนเปื้อนในหลายพื้นที่ กรณีตัวอย่าง เช่น การปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยในดินและน้ำใต้ดินในและรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน การปนเปื้อนโลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยในดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่โดยรอบ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง จนเป็นเหตุให้เกิดการประกาศเขตควบคุมมลพิษ การปนเปื้อนสารอันตรายในน้ำใต้ดินเนื่องจากการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่ปากช่อง เป็นต้น

ปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดินมาจากกิจกรรมมนุษย์ จากการทิ้งของเสีย ขยะมูลฝอยจากชุมชน สารอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม และจากหลุมฝังกลบขยะที่เสื่อมสภาพหรือไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ หรือจากการลักลอบทิ้ง ซึ่งเมื่อสารอันตรายหกรด (spill) หรือ ถูกทิ้งในดิน บางส่วนจะระเหยออก (หากมีคุณสมบัติของการระเหย) บางส่วนจะอิ่มตัวอยู่ในดิน ซึ่งส่วนที่อยู่ในดินนั้น บางส่วนจะเกาะติดกับอนุภาคของดิน บางส่วนซึมลงตามชั้นดินในแนวดิ่งตามแรงโน้มถ่วงของโลก จนกระทั่งถึงชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งเมื่อถึงชั้นน้ำใต้ดินสารอันตรายจะละลายกับน้ำใต้ดินและถูกพัดพาไปในทิศทางเดียวกับน้ำใต้ดิน และจะเข้าสู่บ่อน้ำใต้ดินที่ใกล้ที่สุด หรือไหลไปยังบ่อที่มีการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งสารอันตรายบางชนิด เช่น สารในกลุ่มสารอินทรีย์ระเหย บางชนิดส่งผลต่อสุขภาพ

สาเหตุที่ทำให้น้ำใต้ดินเกิดการปนเปื้อน

  1. การฝังกลบขยะมูลฝอย ในบางพื้นที่นั้นมีวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยชนิดต่าง ๆ ด้วยการฝังกลบ ซึ่งขยะเหล่านี้อาจรวมถึงถังบรรจุสารเคมี ถ่านไฟฉาย หรือน้ำมันเครื่องที่เหลือจากการใช้งาน ซึ่งเมื่อซึมผ่านชั้นผิวดินลงไปก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่งแหล่งน้ำบาดาลได้
  2. การปล่อยน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรม ในกระบวนการทำงานของภาคอุตสาหกรรมนั้นมักมีการปลดปล่อยน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก ซึ่งหลายครั้งที่เราจะเห็นข่าวลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่นำไปสู่การปนเปื้อนของแหล่งน้ำบาดาลได้
  3. การใช้สารเคมีของภาคเกษตรกรรม กิจกรรมการเกษตรมักมีการนำสารเคมีมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฆ่าแมลงศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ยาฆ่าหญ้า หรือสารฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดคอกเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งสารเคมีต่าง ๆ เหล่านี้สามารถซึมผ่านลงสู่ชั้นผิวดินได้โดยตรง และเกิดการปนเปื้อนในน้ำใต้ดินเป็นวงกว้าง
  4. สารเคมีในชีวิตประจำวัน ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนั้นมีการนำสารเคมีมาใช้งานอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ สารเคมีที่ใช้เพื่อการรักษาโรค และสารเคมีที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมก็สามารถซึมผ่านชั้นผิวดินลงไปปนเปื้อนกับน้ำบาดาลได้

แนวทางการป้องกันการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน

  1. การบำบัดน้ำเสียของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น มีการตรวจวัดค่าต่าง ๆ ของน้ำเสียให้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อไป
  2. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น อย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผลิตจากสารตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานซ้ำได้ง่าย หรือผลิตภัณฑ์ที่เมื่อย่อยสลายแล้วไม่ก่อให้เกิดพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  3. การทำเกษตรกรรมทางเลือก ในปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าเกษตรอินทรีย์ หรือ เกษตรแบบออร์แกนิกกันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมแบบไม่พึ่งสารเคมีซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้วยังดีต่อคุณภาพของน้ำใต้ดินอีกด้วย

ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม